มโหรี ๑

วงดนตรีไทยประเภทหนึ่งซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีผสมทั้งดีด สี ตี เป่า เป็นวงดนตรีที่ใช้บรรเลงเพื่อขับกล่อม ไม่นิยมบรรเลงในการแสดงใด ๆ

 วงมโหรีมี ๕ แบบ คือ

 ๑. วงมโหรีเครื่องสี่ เป็นวงมโหรีที่รวมเอาการบรรเลงพิณและการขับไม้ ซึ่งมีมาแต่โบราณเข้าด้วยกัน เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยอยุธยา มีเครื่องดนตรี ๔ ชิ้น คือ

๑. ทับ (ปัจจุบันเรียกว่า โทน) เป็นเครื่องควบคุมจังหวะ
๒. ซอสามสาย
๓. กระจับปี่
๔. กรับพวง (ผู้ขับร้องเป็นผู้ตีกรับพวง)

   วงมโหรีเครื่องสี่นี้เดิมผู้ชายเป็นผู้บรรเลง ต่อมาเมื่อนิยมฟังมโหรีกันแพร่หลาย ผู้มีบรรดาศักดิ์จึงนิยมให้ผู้หญิงฝึกหัดบรรเลงบ้างและได้รับความนิยมสืบต่อมา

 ๒. วงมโหรีเครื่องหก คือ วงมโหรีเครื่องสี่ซึ่งเพิ่มเครื่องดนตรีอีก ๒ อย่าง คือ รำมะนา สำหรับตีกำกับจังหวะคู่กับทับ และขลุ่ย (ปัจจุบันเรียกว่า ขลุ่ยเพียงออ) สำหรับเป่าดำเนินทำนอง และเปลี่ยนใช้ฉิ่งแทนกรับพวง นับเป็นการบรรเลงที่มีเครื่องดนตรีครบทั้งดีด สี ตี และเป่า เกิดขึ้นในตอนปลายสมัยอยุธยา

 ๓. วงมโหรีเครื่องเดี่ยว หรือ วงมโหรีเครื่องเล็ก คือ วงมโหรีที่ได้เพิ่มเครื่องดนตรีและเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ครั้งแรกเพิ่มระนาดเอกและฆ้องวง (ภายหลังเรียกว่า ฆ้องกลางหรือฆ้องมโหรี) (ดู ฆ้องมโหรี ประกอบ) ต่อมาจึงได้เพิ่มซอด้วงและซออู้ ส่วนกระจับปี่นั้นเปลี่ยนเป็นใช้จะเข้แทนเนื่องจากเวลาบรรเลงจะเข้วางราบไปกับพื้น ซึ่งต่างกับกระจับปี่ที่ต้องตั้งดีด ทั้งนมที่ใช้รองรับสายและบังคับเสียงก็เรียงลำดับมีระยะเหมาะสมกว่ากระจับปี่ เวลาบรรเลงจึงทำให้ใช้นิ้วดีดได้สะดวกและแคล่วคล่องกว่า นอกจากนี้จะเข้ยังสามารถทำเสียงได้ดังและทำเสียงได้มากกว่ากระจับปี่

   ปัจจุบันวงมโหรีเครื่องเดี่ยวประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังนี้

ซอสามสาย ๑ คัน ทำหน้าที่คลอเสียงผู้ขับร้อง และบรรเลงดำเนินทำนองร่วมในวง
ซอด้วง ๑ คัน ดำเนินทำนองโดยเก็บบ้าง หวานบ้าง
ซออู้ ๑ คัน ดำเนินทำนองเป็นเชิงหยอกล้อยั่วเย้าไปกับทำนองเพลง
จะเข้ ๑ ตัว ดำเนินทำนองโดยเก็บบ้าง รัวบ้าง และเว้นห่างบ้าง
ขลุ่ยเพียงออ ๑ เลา ดำเนินทำนองเก็บบ้าง โหยหวนบ้าง
ระนาดเอก ๑ ราง ดำเนินทำนองเก็บบ้าง กรอบ้าง ทำหน้าที่เป็นผู้นำวง
ฆ้องวง (เรียกว่า ฆ้องกลางหรือฆ้องมโหรี) ๑ วง ดำเนินทำนองเนื้อเพลงเป็นหลักของวง
โทน ๑ ลูก รำมะนา ๑ ลูก ตีสอดสลับกัน ควบคุมจังหวะหน้าทับ
ฉิ่ง ๑ คู่ ควบคุมจังหวะย่อย แบ่งให้รู้จังหวะหนักเบา

 ๔. วงมโหรีเครื่องคู่ คือ วงมโหรีเครื่องเดี่ยวที่ได้เพิ่มระนาดทุ้มและฆ้องวงเล็กเข้าในวง ทั้งนี้เนื่องด้วยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วงปี่พาทย์ได้เพิ่มระนาดทุ้มและฆ้องวงเล็กรวมเรียกว่า วงปี่พาทย์เครื่องคู่ วงมโหรีจึงเพิ่มเครื่องดนตรีดังกล่าวบ้าง นอกจากนั้นยังเพิ่มซอด้วงและซออู้ขึ้นเป็นอย่างละ ๒ คัน เพิ่มจะเข้เป็น ๒ ตัว ขลุ่ยนั้นเดิมมีแต่ขลุ่ยเพียงออ จึงเพิ่มขลุ่ยหลีบอีก ๑ เลา ส่วนซอสามสายก็เพิ่มซอสามสายหลีบอีก ๑ คัน และเพิ่มฉาบเล็กอีก ๑ คู่ด้วย

 ปัจจุบันวงมโหรีเครื่องคู่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังนี้

ซอสามสาย ๑ คัน หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
ซอสามสายหลีบ ๑ คัน บรรเลงร่วมกับเครื่องดำเนินทำนองอื่น ๆ
ซอด้วง ๒ คัน หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
ซออู้ ๒ คัน หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
จะเข้ ๒ ตัว หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
ขลุ่ยเพียงออ ๑ เลา หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
ขลุ่ยหลีบ ๑ เลา ดำเนินทำนองเก็บบ้าง โหยหวนบ้าง สอดแทรกทำนองเล่นล้อไปทางเสียงสูง
ระนาดเอก ๑ ราง หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
ระนาดทุ้ม ๑ ราง ดำเนินทำนองเป็นเชิงหยอกล้อยั่วเย้าให้เกิดอารมณ์ครึกครื้น
ฆ้องวง ๑ วง หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
ฆ้องวงเล็ก ๑ วง ดำเนินทำนองเก็บถี่ ๆ บ้าง สะบัดบ้าง สอดแทรกทำนองไปทางเสียงสูง
โทน ๑ ลูก รำระนา ๑ ลูก หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
ฉิ่ง ๑ คู่ หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
ฉาบเล็ก ๑ คู่

 ๕. วงมโหรีเครื่องใหญ่ คือ วงมโหรีเครื่องคู่ที่เพิ่มระนาดเอกเหล็กและระนาดทุ้มเหล็กเข้าไป แต่ลูกระนาดส่วนมากนิยมเปลี่ยนเป็นทำด้วยทองเหลืองเพราะเทียบเสียงได้ไพเราะกว่าเหล็ก เรียกว่า ระนาดเอกทองและระนาดทุ้มทอง ทั้งนี้เนื่องด้วยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วงปี่พาทย์ได้เพิ่มระนาดเอกเหล็กและระนาดทุ้มเหล็กขึ้นอีก ๒ ราง เรียกว่า วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ วงมโหรีจึงเพิ่มเครื่องดนตรีดังกล่าวบ้าง วงมโหรีเครื่องใหญ่ถือเป็นแบบฉบับใช้บรรเลงกันมาจึงถึงทุกวันนี้

   ปัจจุบันวงมโหรีเครื่องใหญ่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังนี้

ระนาดเอก ๑ ราง
ระนาดเอกทอง ๑ ราง ดำเนินทำนองเหมือนระนาดเอก แต่มิได้เป็นผู้นำวง
ระนาดทุ้ม ๑ ราง
ระนาดทุ้มทอง ๑ ราง ดำเนินทำนองยั่วเย้าคล้ายระนาดทุ้ม แต่เดินทำนองห่าง ๆ
ฆ้องวง ๑ วง
ฆ้องวงเล็ก ๑ วง
ซอสามสายหลีบ ๑ คัน
ซอสามสาย ๑ คัน
ซอด้วง ๒ คัน
ซออู้ ๒ คัน
จะเข้ ๒ ตัว
ขลุ่ยหลีบ ๑ เลา
ขลุ่ยเพียงออ ๑ เลา
โทน ๑ ลูก
รำมะนา ๑ ลูก
ฉิ่ง ๑ คู่
ฉาบเล็ก ๑ คู่

 ต่อมาได้มีการใช้โลหะผสมอย่างอื่นทำเป็นลูกระนาด ยังคงมีเสียงเช่นเดียวกับระนาดทอง แต่สีสันผิดไป ถ้าอนุโลมให้ใช้แทนกันได้อาจจะต้องเรียกชื่อตามชนิดของโลหะนั้น ๆ

 ส่วนโหม่งซึ่งเป็นเครื่องกำกับจังหวะนั้น เมื่อการบรรเลงเพลงใดหรือในกรณีใดเห็นสมควรจะนำมาผสมด้วย ก็เพิ่มได้ทั้งในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว วงมโหรีเครื่องคู่ และวงมโหรีเครื่องใหญ่

 บรรดาเครื่องดนตรีในวงมโหรีที่เลียนแบบมาจากวงปี่พาทย์ คือ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ฆ้องวงใหญ่มโหรี และฆ้องวงเล็กมโหรีนั้น ทุกอย่างได้ลดขนาดลงเพื่อให้พอเหมาะกับผู้บรรเลง ซึ่งสมัยโบราณใช้เฉพาะนักดนตรีหญิง เพื่อไม่ให้เสียงดังเกินไป และเพื่อให้เสียงเครื่องตีดังกลมกลืนกับเครื่องดีดสีการลดขนาดลงนี้มีผลให้การเรียงเสียงของลูกระนาดเปลี่ยนไป และมีระดับเสียงสูงขึ้นกว่าแนวที่เคยบรรเลงด้วยวงปี่พาทย์ ดังนั้นการบรรเลงระนาดและฆ้องวงในวงมโหรีจึงมีวิธีการบรรเลงแตกต่างจากการบรรเลงในวงปี่พาทย์

 เดิมวงมโหรีมีบรรเลงเฉพาะในวังจึงใช้แต่นักดนตรีหญิงเท่านั้น ต่อมาเมื่อนิยมใช้บรรเลงกันทั่วไปจึงมีนักดนตรีชายเข้ามาร่วมบรรเลงด้วย